วิธีใช้น้ำเกลือให้ถูกต้อง และสิ่งที่ถูกเข้าใจผิดมากที่สุด

น้ำเกลือ มีหลายประเภท ที่ใช้ในทางการแพทย์และแบบใช้ได้ทั่วไป
ซึ่งในกรณีนี้ เราจะพูดถึงน้ำเกลือที่เราสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา หรือร้านค้าชั้นนำทั่วไป นะคะ

 

น้ำเกลือ คืออะไร?

          ในน้ำเกลือมีสารละลาย คือ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ยังมีชื่อเรียกอีกอย่าง คือ นอร์มัล ซาไลน์ (Normal Saline Solution (NSS)) ซึ่งมีความเข้มข้น 0.9% หมายความว่า ในน้ำปริมาณที่ 100 มิลลิลิตร จะมีปริมาณเกลืออยู่ที่ 0.9 กรัมนั่นเองค่ะ

          ในน้ำเกลือ จะมีค่า pH (หรือค่าความเป็นกรด-ด่าง) เทียบเท่ากับ ค่า pHของน้ำหล่อเลี้ยงผิวหนังของร่างกายมนุษย์ ก็คือ ประมาณ pH  5.5 (หรือมี pH อยู่ในช่วงระหว่าง 4.5-7)  จึงทำให้เราใช้กับผิวหนังได้ 

 

น้ำเกลือทำอะไรได้บ้าง?

          น้ำเกลือนอกจากใช้บนผิวชั้นนอก ยังสามารถใช้ สวนล้างจมูก บ้วนปาก หรือ ล้างแผลได้ค่ะ
          แต่ในปัจจุบัน คนนิยมนำมาใช้กับใบหน้า เพื่อคาดหวังในด้านการรักษาสิวกันมากขึ้น แต่เคยสงสัยกันไหมคะ? บางคนใช้แล้วไม่เป็นอะไร แต่ก็มีบางคนที่ยิ่งใช้ผิวยิ่งแย่ลง สาเหตุมันมาจากอะไรกันแน่?

 

น้ำเกลือรักษาสิวได้ไหม?

          สิวเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า C.acne (หรือ ชื่อเดิม P.acne) ซึ่งต้องใช้การฆ่าเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ ด้วยยาหรือครีม ที่มีส่วนผสมลดเชื้อ C.acne เช่น Benzoyl Peroxide, Clinda-mycin, Tretinoic acid, Adapalene, Erythromycinm, Axelaic acid เป็นต้น

ในส่วนของน้ำเกลือ มีส่วนผสมเพียงอย่างเดียวคือ โซเดียมคลอไรด์ ซึ่งไม่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อหรือลดปริมาณเชื้อสิว C.acne ให้ลดลงได้

ดังนั้น น้ำเกลือไม่สามารถรักษาสิวได้ค่ะ

          แต่หากพูดถึง การนำน้ำเกลือมาใช้ในสัดส่วนของใบหน้า ในด้านรักษาสิว ก็คือ ใช้เป็นขั้นตอนก่อนและหลังการกดสิว เพื่อเช็ดเอาครบฝุ่นผงเล็กๆเท่านั้น ไม่ได้นำมาฆ่าเชื้อสิวหรือรักษาสิวโดยตรง ซึ่งแพทย์ผิวหนังและผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วิธีรักษาสิวที่ดีที่สุด คือ การใช้ยารักษาสิวหรือเวชสำอาง

 

น้ำเกลือเช็ดหน้าดีไหม?

          น้ำเกลือสามารถนำมาเช็ดบนผิวหนังได้ ด้วยค่า pH ที่สมดุลและเหมาะสมกับผิวหนังของมนุษย์ บริเวณผิวหน้าของมนุษย์จะมีค่า pH อยู่ที่ประมาณ 5.5 และในน้ำเกลือเอง มีค่า pH อยู่ระหว่าง 4.7-7 หรือ ประมาณ 5.5 จึงสามารถใช้กับใบหน้าได้ค่ะ

          และในน้ำเกลือมีส่วนผสมแค่ เกลือ (โซเดียมคลอไรด์) เพียงอย่างเดียว จึงไม่มีคุณสมบัติในการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น ไม่มีผลในด้านการผลัดเซลล์ผิว  หรือ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเซลล์ผิวหนังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเปรียบเทียบกับสกินแคร์ค่ะ

หากถามว่าเช็ดได้ไหม? คำตอบคือ ทำได้
และน้ำเกลือไม่สามารถทดแทนสกินแคร์หรือการบำรุงขั้นตอนใดได้


แต่การนำมาเช็ดติดต่อกันเป็นเวลานานอาจต้องระมัดระวังผลข้างเคียงด้วยนะคะ

 

น้ำเกลือบำรุงผิวได้ไหม?

          ในปัจจุบันมีหลายสื่อหรือผู้เคลมการใช้น้ำเกลือกันค่อนข้างไปไกล จนทำให้หลายๆคนอาจเข้าใจผิดได้ โดยส่วนใหญ่ มักคาดหวังผลจากการใช้น้ำเกลือ ไปทดแทนสกินแคร์ ขั้นตอนของโทนเนอร์ หรือใช้เป็นคลีนซิ่งเช็ดก่อนล้างหน้า ซึ่งเราได้พิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง!

          น้ำเกลือมีเพียงส่วนผสมของเกลือ ไม่ได้มีส่วนผสมอื่นใด ดังนั้น จึงไม่ได้มีส่วนช่วยในด้านบำรุงผิว และไม่สามารถทดแทนสกินแคร์ในขั้นตอนใดได้เลย 

น้ำเกลือ จึงไม่ใช่ โทนเนอร์ หรือ คลีนซิ่ง  แบบที่หลายคนเข้าใจค่ะ

          “โทนเนอร์ (Toner)” คือ ใช้เพื่อบำรุงและเติมเต็มผิวหลังทำความสะอาดเป็นหลัก หรืออาจมีส่วนผสม เพิ่มความกระจ่างใส ขจัดความมันส่วนเกิน ปรับสภาพผิวหลังล้างหน้า เป็นต้น

          “คลีนซิ่ง (Cleansing)” คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อเช็ดหรือทำความสะอาดในขั้นตอนแรก เพื่อขจัดเอาสิ่งตกค้างที่ยึดเกาะชั้นผิวส่วนนอก เช่น ฝุ่น ควัน ความมันส่วนเกิน เครื่องสำอาง ครีมกันแดด เซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ(ขี้ไคล) เพื่อทำความสะอาดก่อนใช้ คลีนเซอร์ (Cleanser) ซึ่งก็คือ ผลิตภัณฑ์ล้างทำความสะอาดผิว อาทิ โฟมล้างหน้า สบู่เหลว เจลล้างหน้า เป็นต้น

 

น้ำเกลือใช้กับใบหน้ามีผลข้างเคียงหรือไม่?

          ในน้ำเกลือ มีโซเดียวคลอไรด์ หรือ เกลือ ทำให้เราเช็ดกับผิวหนังแล้วรู้สึกแห้งเร็ว แต่การที่เรานำน้ำเกลือใช้เช็ดใบหน้าเป็นประจำติดต่อกันนานๆ ส่งผลให้ บริเวณนั้นเกิดอาการแห้ง ขาดความชุ่มชื้นได้

          เราได้ทำการทดสอบกับอาสาสมัคร ในการใช้น้ำเกลือเช็ดหน้าติดต่อกันเป็นประจำ มากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไป พบว่า คนที่มีสภาพผิวมันมีความมันเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังใช้ ส่วนคนที่มีสภาพผิวแห้ง กลับพบว่า ผิวยิ่งแห้งมากกว่าเดิม

          นอกจากนี้เรายังพบปัญหาอื่นๆ เช่น ผิวมีอาการระคายเคืองง่าย หน้าแดงง่าย รูขุมขนอักเสบ เกิดผดผื่นขึ้นหลังใช้น้ำเกลือเช็ดด้วยสำลีติดต่อกันเป็นเวลานานๆ เราเล็งประเด็นไปที่ในส่วนผสมของน้ำเกลือ ที่ไม่มีสารหล่อลื่นหรือสารลดการเสียดสีผิว เมื่อเราใช้สำลีและน้ำเกลือร่วมกัน ส่งผลให้สำลีสัมผัสกับผิวโดยตรง จึงเกิดการเสียดสีที่รุนแรงต่อผิวได้

          ในด้านเครื่องสำอางบางประเภทที่มีส่วนผสมของ โซเดียมคลอไรด์ เช่น รองพื้นบางประเภท ส่งผลให้เกิดการอุดตันและเป็นสิว มาจากการอุดตันในรูขุมขนได้ ซึ่งเราได้พิจารณาจากบทความที่อาจเป็นไปได้ ในกรณีนี้ โดยแพทย์ผิวหนัง Y. Harth, MD กล่าวว่า ควรหลีกเลี่ยง “โซเดียมคลอไรด์ หรืออีกชื่อหนึ่งของเกลือทั่วไป ถูกใช้ในรองพื้นบางประเภท เช่นเดียวกับอาหารรสเค็ม มันสามารถอุดตันรูขุมขนและทำให้เกิดสิวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คางและรอบปาก”

 

ควรใช้น้ำเกลือรักษาสิวอย่างไรให้เห็นผล

          การใช้น้ำเกลือร่วมกับการรักษาสิวที่ถูกต้อง คือ การใช้ยารักษาสิวหรือเวชสำอางรักษาสิวโดยเฉพาะ และบริเวณสิวอุดตันหัวเปิด หรือสิวอักเสบที่สามารถทำการกดได้ เราขอแนะนำให้ใช้น้ำเกลือเช็ดบริเวณหัวสิว ก่อนและหลังจากการกดสิว ซึ่งทำโดยแพทย์ผิวหนังหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

          ไม่แนะนำให้กดสิวเองเพราะอาจทำให้เกิดหลุมสิว สิวอักเสบมากขึ้น รูขุมขนกว้าง และเกิดรอยช้ำ รอยดำที่ทิ้งรอยไว้นานที่มาจากการกดสิว รวมถึงการติดเชื้อเพิ่มขึ้นส่งผลให้สิวเกิดการลุกลามแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นๆของใบหน้าได้ง่าย

 

 

SOURCE
  • Yoram Harth, MD,7 Makeup Ingredients to Avoid If You Have Acne-Prone Skin, According To Derms., Site : https://www.byrdie.com/makeup-to-avoid-for-acne-prone-skin-4777095#sodium-chloride.

  • ERIN JAHNS, 9 Ingredients Skincare Experts Want You to Avoid If You Have Acne, Site : https://www.byrdie.com/acne-causing-ingredients-4845040.
  • Normal Saline Flush Side Effects., Site : https://www.drugs.com/sfx/normal-saline-flush-side-effects.html”

  • Sejal K. Shah, MD., Site : https://www.byrdie.com/what-does-toner-do#what-is-face-toner.

  • Dr. Joshua Zeichner, MD., Site : https://www.byrdie.com/what-does-toner-do#what-is-face-toner.

  • Sodium Chloride Solution, Intravenous – Uses, Side Effects, and More., Site : https://www.webmd.com/drugs/2/drug-145556/sodium-chloride-0-9-intravenous/details.

  • Sodium Chloride., Site : https://www.cosmeticsinfo.org/ingredient/sodium-chloride-0.

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © SISTER NAN All rights reserved.